วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หลักการเขียนงานวิจัยบทที่ 1


              แน่นอนที่สุดของนักศึกษาหรือผู้ที่ไม่เคยเขียนงานวิจัยมาเลย มักประสบปัญหาอย่างแน่นอนครับเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มจากจุดไหน เพราะการเขียนดีและชัดเจนสามารถนำไปสู่การสร้างกรอบแนวคิดผสมผสานกับบทที่ 2 ได้อย่างงดงามนะครับ วันนี้ผมขอกล่าวถึงรายละเอียดของ บทที่ 1 ซึ่งเป็นบทนำ ว่าเขียนอย่างไร  มีหัวข้ออะไรบ้าง  ซึ่งบทที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิจัย มีความสำคัญไม่น้อยกว่าบทอื่น ๆ บทที่ 1 บทนำ มีหัวข้อประกอบด้วย
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
3. คำถามการวิจัย
4. สมมติฐาน 
5. ขอบเขตของการวิจัย
5.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
5.2. ตัวแปร เนื้อหาที่ใช้
5.3. ระยะเวลา
6. นิยามศัพท์เฉพาะ 
7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
             ก่อนเริ่มเขียนนั้นผมขอนำเสนอในประสบการณ์ของตนเองที่ได้เขียนมานะครับว่า เป็นการกล่าวจากมุมกว้างและมองแคบลงถึงปัญหาที่จะทำวิจัยนั้นเอง ซึ่ง ภูมิหลังมีประมาณ 3 - 5 หน้า เช่น ถ้าผู้วิจัย วิจัยเรื่อง การศึกษาการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาต่อการพัฒนาองค์กรด้านคุณภาพการบริการตามนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพ การกล่าวถึง. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ควรเริ่ม จากนโยบายของโลกหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกกับผลกระทบและที่เป็นอยู่ จากนั้นควรเขียนโฟกัสมองมาที่ประเทศไทย ภูมิภาค ฯลฯ หรือเข้าใกล้กับเนื้อเรื่องหรือสิ่งที่เรากำลังศึกษา และนำประเด็นของปรากฏการณ์ที่เป็นสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขหรือสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อสิ่งหรือเรื่องนั้นๆ พร้อมกับหาข้อมูลมาอ้างอิง เพราะ การอ้างอิง เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ายกบทความ งานวิจัย จากส่วนใด ควรมีการอ้างอิง ขอแต่ละย่อหน้า รวมทั้งควรเขียนเป็นความเรียง ไม่ย่อหน้ามากเกินไปจนขาดความต่อเนื่องเช่นอาจเป็นการวิจัยของนักวิจัยท่านอื่นๆ ที่ศึกษาและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราศึกษาอยู่ แต่ที่สำคัญควรตระหนักเสมอๆนะครับว่า ปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไรมากน้อยแค่ไหนพร้อมกับปรับโฟกัสเข้ามาสู่เนื้อหาที่เรากำลังศึกษานะครับ หากไม่ทำเช่นนั้นอาจทำให้เกิดช่องโหว่ของกรอบแนวคิดและทำให้เกิดคำถามของผู้อ่านหรือผู้ที่ตรวจงานวิจัยของท่านอย่างแน่นอนครับ
                เมื่อเราเขียนชัดเจนเหมือนเล่าเรื่องของนิทานหรือปัญหาต่าง ๆ ในองค์กรแล้วถอดออกมาเป็นบทความเขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านแล้วจับประเด็นและเข้าใจ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงคำที่ลึกหรือเข้าใจยากเกินไปและทำให้ผู้อ่านไม่อยากอ่านหรือติดตามต่อ จากนั้นก็นำเนื้อหาที่เราเขียนดึงมา ณ จุดสนามที่เราจะทำการศึกษาเกี่ยวกับ  การศึกษาการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาต่อการพัฒนาองค์กรด้านคุณภาพการบริการตามนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพ นั่นคือเราต้องเขียนถึงบริบทของโรงพยาบาลเกาะคาด้วยว่าองค์กรมีนโยบายอย่างไร และมีผลการดำเนินงานอย่างไร ผลกระทบหรือสภาพปัญหาและอุปสรรคของงานคืออะไร  อย่างไร พร้อมกับสรุปประเด็นนำเข้าสู่การตั้งคำถามของการวิจัย นั่นคือหัวข้อการวิจัย โดยการสรุปและยกประเด็นว่า ทำไมผู้วิจัยจึงต้องศึกษาและผลกระทบ เกี่ยวข้องกับใคร ที่ไหน อย่างไร หรือความคาดหวังอะไรกับเรื่องนี้

2. ความมุ่งหมายของการวิจัยหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย
           เป็นการเขียนบ่งชี้ว่าผู้วิจัยจะทำอะไร วัดอะไรนั่นเอง หาอะไร โดยเขียนให้สอดคล้องกับชื่อเรื่องที่จะทำ ความมุ่งของการวิจัยมาจาก ชื่อเรื่อง มาจากสิ่งที่ต้องการศึกษา  ส่วนมากจะเขียนเป็นข้อ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น “ การศึกษาการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาต่อการพัฒนาองค์กรด้านคุณภาพการบริการตามนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพ”  เราสามารถตั้งความมุ่งหมายของการวิจัย ดังนี้
1. เพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาในการพัฒนาระบบบริการ
2. เพื่อการหาความสัมพันธ์ของตัวแปรในการวิจัยต้น เช่น ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา รายได้ตำแหน่งงาน ฯลฯ  ,ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพ และตัวแปรตาม คือการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาในแต่ละด้านในที่นี้นำทฤษฎีการมีส่วนร่วมมาศึกษา 4 ด้านได้แก่ ด้านการตัดสินใจ ด้านดำเนินการ ด้านการร่วมรับผลประโยชน์ และด้านการประเมินผล
3. เพื่อนำแนวทางการพัฒนาจากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในองค์กรต่อไป 

3. คำถามการวิจัย
เป็นการบอกถึงความเป็นไปของการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบและเป็นฐานของการศึกษาโดยการเลือกใช้สถิติหรือการออกแบบการวิจัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
“ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาควรมีส่วนร่วมอย่างไรบ้างที่ทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพบริการ”

4. สมมติฐาน 
          เป็นการตั้งคำตอบล่วงหน้า คาดการณ์ล่วงหน้า  ก่อนการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งการตั้งสมมติฐานต้องมาจากทฤษฏี หลักการ เหตุผล และสามารถตรวจสอบได้  จากตัวอย่างข้างบนสามารถเขียนได้ดังนี้
       การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคามีผลต่อการพัฒนาองค์กรหรือไม่อย่างไร

5. ขอบเขตของการวิจัย
         เป็นการว่าด้วยขอบเขตของการวิจัยที่จะทำเพื่อจำกัด และเพื่อให้เข้าใจ ความชัดเจนในการทำวิจัย ซึ่งจะระบุถึง ประชากร  กลุ่มตัวอย่าง ตัวแปร เนื้อหา ระยะเวลา เช่น
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคา จากจำนวน 7 แผนก  รวมทั้งสิ้น 120 คน

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคา ที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 80 คน
ข้อสังเกต ข้อบกพร่องที่พบในงานวิจัยของคือ ขอบเขตของการวิจัย ส่วนมากจะบกพร่อง ในเรื่อง จำนวนกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ไม่ตรง เขียนไม่ขัดเจน ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นควรมีการตรวจสอบให้มีความถูกต้อง โดยการใช้หลักสถิติมาช่วย

6. นิยามศัพท์เฉพาะ  หลักการเรื่องนิยามศัพท์ ไม่ยากครับ ควรมองที่ตัวแปรทั้งตัวแปรต้นและตัวแปรตาม นอกจากนี้ให้นึกถึงชื่อเรื่องของการวิจัย และเลือกคำศัพท์ที่คาดว่าจะให้ผู้อ่านทราบ เนื่องจากจะมีบางคนที่ไม่ทราบ
ตัวอย่างนิยามศัพท์  ได้แก่ 
1. การมีส่วนร่วม
2. การมีส่วนร่วมด้านการตัดสินใจ
3. การมีส่วนร่วมด้านดำเนินการ
4. การมีส่วนร่วมด้านการร่วมรับผลประโยชน์
5. การมีส่วนร่วมด้านการประเมินผล
6. เจ้าหน้าที่
7. การบริการ
8. การพัฒนาระบบบริการ
9. การปฏิรูประบบสุขภาพ

7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงคำตอบและความคาดหวังของผู้วิจัยโดยนำจากการตั้งวัตถุประสงค์พร้อมกับการประยุกต์ใช้มาเป็นคำตอบและเป็นการเขียนนั่นเอง เช่น
1. เพื่อทราบสถานการณ์ด้านการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะคาในการพัฒนาระบบบริการได้มากยิ่งขึ้น
2. เพื่อทราบผลของความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งต้นและตัวแปรตามว่าเป็นอย่างไรทั้งในภาพรายด้านหรือภาพรวมนั่นเอง
3. เพื่อได้แนวทางการพัฒนาที่ได้จากการศึกษาวิจัยไปประยุกต์ใช้ในองค์กรต่อไป 

 สรุป  จากภาพรวมของตัวอย่างทั้งหมดผมคิดว่า นักวิจัยก็สามารถเขียนรายงานการวิจัย บทที่ 1 ได้อย่างสบาย ซึ่งการเขียนบทที่ 1 สามารถ เขียนหัวข้อใดก่อนก็ได้ ถ้ามองภาพรวมของงานวิจัยทั้งหมดออก ถ้ามองภาพไม่ออก ควรมองการวิจัยเป็นลักษณะการทำ Mind mapping ก็ได้

ข้อระวังว่า

1.การทำวิจัย ควรเริ่มจากการศึกษาจากปัญหาหรือข้อสงสัยในชีวิตประจำวันหรือความต้องการของการพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงานก็ได้
2. การทำวิจัยที่ดีควรมีการอ้างอิงอย่างชัดเจน
3. ควรกำหนดกรอบการวิจัยให้ชัดเจน
4. การทำวิจัยควรมีการทบทวนและวิเคราะห์สรุปให้ชัดเจนของการนำไปสู่บทที่ 3
5. การวิจัยควรกำหนดหรือออกแบบการวิจัยให้ชัดเจน
6. เครื่องมือการวิจัยควรผ่านการศึกษาอย่างละเอียดมีขั้นตอนสอดคล้องกับเรื่องที่ศึกษาและมีผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 5 ท่านช่วยตรวจและชี้แนะก่อนนำไปทดสอบหรือหาค่าความเที่ยงและความเชื่อมั่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ
7. เครื่องมือควรผ่านการนำไปทดลองใช้ก่อนการศึกษาจริง
8. หลักการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลควรพิจารณาภายใต้หลักความถูกต้องจรรยาบรรณของนักวิจัย
9. การวิเคราะห์การนำเสนอข้อมูลมีหลายรูปแบบแต่ที่สำคัญควรเน้นหลักการศึกษาที่ได้จริงไม่ควรนำความคิดเห็นของตนเองมาเขียน

ระลึกไว้เสมอว่า การทำวิจัยหากไม่ผ่านการตรวจสอบหรือคำชี้แนะและไม่ชัดเจนในรูปแบบการวิจัย การใช้สถิติ หรือทั้งใน 9 ข้อขั้นต้นถือว่า เป็นการวิจัยที่ไม่สมบรูณ์แบบ  ดังนั้นผมในฐานะผู้เขียนขอยกประเด็นที่พบเจอนำมาเผยแพร่และไม่ให้ถือเป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดในวงการศึกษาและการวิจัยต่อไปในอนาคต ดังนี้
บางสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นธุรกิจเป็นหลักโดยให้นักศึกษาทำวิจัยรายกลุ่มในระดับบัณฑิตศึกษาผมถือว่าไม่สมควรและไม่ควรนับว่าเป็นการวิจัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้เลย เพราะในระดับบัณฑิตศึกษาควรเน้นผู้เรียนทุกคนว่า ควรผ่านการศึกษาทุกขั้นตอนเพื่อผู้เรียนสามารถอธิบายและให้คำชี้แนะผู้อื่นได้


“ ผมไม่ภูมิใจใบประกาศโดยเด็ดขาดหากงานวิจัยผมปราศจากการชี้แนะและคำแนะนำจากบรมครู”  ?????? 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น